วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มารี กีมาร์ เดอ ปีนา หรือ ท้าวทองกีบม้า

ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ เดอ ปีนา (Marie Guimar de Pihna) (พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 - พ.ศ. 2265) ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เธอเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับทำขนมไทย ประเภททองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าวิเสท ซึ่งได้ทำอาหารเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตฝรั่งเศสที่มาเยือนในสมัยนั้น มีผู้ยกย่องว่าท้าวทองกีบม้าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"
ประวัติ
ท้าวทองกีบม้าคนนี้เกิดที่กรุงศรีอยุธยา ชื่อจริงว่า ดอนญ่า มารี กีมาร์ เดอปิน่า (ดอนญ่า ในภาษาสเปนหรือโปรตุเกสแปลว่า คุณหญิง) หรือตองกีมาร์ (Tanquimar) เป็นลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น และเบงกอลโดยมารดาของท้าวทองกีบม้าชื่อ อุรสุลา ยามาดา (Ursula Yamada) หรือหนังสือบางเล่มเรียกว่า เออร์ซูลา ยามาดะ ซึ่งมีเชื้อสายญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ที่อพยพลี้ภัยทางศาสนาเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ส่วนบิดาชื่อ ฟานิก กูโยมา (Phanick Guimar หรือ Fanik Guyomar) ที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอลและโปรตุเกสจากอาณานิคมกัว(ปัจจุบันคือรัฐกัว ประเทศอินเดีย)
ครอบครัวของยามาดะเป็นตระกูลที่เคร่งครัดในคริสต์ศาสนามาก เซญอรา อิกเนซ มาร์แตงซ์ ยายของท้าวทองกีบม้า เคยเล่าว่า เขาเป็นหลานสาวของนักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ (Saint Francis Xavier) คริสต์ศาสนิกชนคนแรกของประเทศญี่ปุ่น และนักบุญชื่อดัง โดยได้ประทานศีลล้างบาปและตั้งนามทางศาสนาให้
ราวปี พ.ศ. 2135 ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi, 豊臣 秀吉) ผู้สำเร็จราชการของญี่ปุ่น ต้องการล้มล้างวัฒนธรรมตะวันตก จึงออกพระราชฎีกาในนามของพระจักรพรรดิ์ให้จับกุม ลงโทษ และริบสมบัติชาวคริสต์ ยายของท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นชาวคริสต์จึงถูกลงโทษด้วย นางถูกจับยัดใส่กระสอบนำลงเรือมาที่นางาซากิ เพื่อเนรเทศไปยังเมืองไฟโฟ (Faifo)ปัจจุบันคือ ฮอยอัน ในประเทศเวียดนามเพราะมีชาวคริสต์อยู่มาก บนเรือนี่เองที่ทำให้ยายของท้าวทองกีบม้า พบกับตาของท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นเจ้าชายแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ทั้งสองคนจึงมาตั้งหลักปักฐานที่กรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นประเทศที่ร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ และไม่รังเกียจคนต่างศาสนา
ท้าวทองกีบม้า เป็นหญิงสาวที่มีนิสัยเรียบร้อย ซื่อสัตย์ และเคร่งครัดในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แม้ว่าจะมีเรื่องของมารดาเธอที่ถูกกล่าวหาโดยบาทหลวงชาวอังกฤษผู้หนึ่งว่า ยามาดะ (มารดาของท้าวทองกีบม้า) เป็นสตรีที่ประพฤติไม่เรียบร้อย ชอบคบผู้ชายไม่เลือกหน้า แม้จะแต่งงานกับฟานิกแล้ว ยังแอบปันใจให้ชายอื่นเสมอ โดยเฉพาะหนุ่มโปรตุเกสในค่ายที่ยามาดะอาศัยอยู่ แต่ฟานิกผู้เป็นบิดาของท้าวทองกีบม้ามีผิวดำ แต่มีลูกผิวขาวหลายคนรวมทั้งท้าวทองกีบม้า และทำให้ฟานิกบิดาของท้าวทองกีบม้าถูกชาวยุโรปดูถูกดูแคลนเสมอ อย่างไรก็ตามท้าวทองกีบม้าก็ได้แต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) ชาวกรีกที่เข้ามารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่นิสัยต่างกันมาก ก่อนที่จะแต่งงานกับฟอลคอน ฟอลคอนเคยมีภรรยามาแล้วหลายคน แต่ส่งไปอยู่เมืองพิษณุโลก ส่วนลูกนั้นมารี กีมาร์นำมาเลี้ยงเองเนื่องจากเธอเป็นคนใจบุญสุนทาน เธอรับเลี้ยงเด็กสาวที่ยากจน และเด็กที่มีบิดาเป็นชาวยุโรป และมีมารดาเป็นชาวไทยแต่ถูกทอดทิ้ง เธอนำมาเลี้ยงดูมากมายหลายคน แม้เธอจะมีปัญหาระหองระแหงกับฟอลคอน แต่ก็ยังประคองความรักจนมีบุตรด้วยกัน 2 คนได้แก่ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2227 และฮวน ฟอลคอน (Juan Phaulkon) ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2231 ต่อมาเมื่อสามีนางถูกลงโทษข้อหากบฏ เรียกตำแหน่งคืน ริบทรัพย์ และถูกประหารชีวิต ท้าวทองกีบม้าถูกส่งตัวเข้าไปเป็นคนรับใช้ในพระราชวัง และได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำอาหารหวานประเภทต่างๆ ส่งเข้าไปในพระราชวังตามกำหนด การทำหน้าที่จัดหาอาหารหวานส่งเข้าพระราชวัง ท้าวทองกีบม้าได้ประดิษฐ์ขนมขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา โดยดัดแปลงตำรับเดิมโปรตุเกส และเอาวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีในสยามเข้ามาผสมผสาน ซึ่งหลักๆได้แก่ มะพร้าว แป้งและน้ำตาล จนทำให้เกิดขนมใหม่ที่มีรสชาติอร่อย พระราชวังก็ได้ให้ความชื่นชมมากและถูกเรียกตัวเข้าไปรับราชการในพระราชวังในตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น
บั้นปลายชีวิต
แม้ท้าวทองกีบม้าจะมีชีวิตในระยะแรกๆ ค่อนข้างลำบาก สามีถูกประหาร ต้องมีชีวิตระหกระเหิน ถูกส่งตัวไปเป็นคนรับใช้ แต่ด้วยความสามารถ และอุปนิสัยดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บั้นปลายชีวิตของเธอจึงสุขสบายและได้รับการยกย่องตามควร ท้าวทองกีบม้ามีอายุยืนถึง 4 รัชกาล คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือและสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สันนิษฐานว่าชื่อตำแหน่ง ทองกีบม้า เพี้ยนมาจากชื่อ ตองกีมาร์ นั้นเอง มีหลักฐานบ่งว่าท้าวทองกีบม้าถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 66 ปี
ขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าทำขึ้น
ท้าวทองกีบม้า เมื่อเข้าไปรับราชการในพระราชวังได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกส ให้เป็นขนมหวานของไทย และเผยแพร่ไปโดยทั่วไป ท้าวทองกีบม้าจึงได้ชื่อเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" โดยขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงเป็นขนมหวานของไทยนั้น มีดังอไปนี้
กะหรี่ปั๊บ,ขนมหม้อแกง,ทองม้วน,ทองหยอด,ทองหยิบ,ฝอยทอง,สังขยา,ขนมผิง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

เกี่ยวกับฉัน