วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553
อะเล็กซานเดอร์ โพร์ฟิเรวิช โบโรดิน
อะเล็กซานเดอร์ โพร์ฟิเรวิช โบโรดิน (รัสเซีย: Александр Порфирьевич Бородин, อังกฤษ:Alexander Porfiryevich Borodin) (12 พฤศจิกายน [นับแบบเก่า 31 ตุลาคมOctober] ค.ศ. 1833 – 27 กุมภาพันธ์ [นับแบบเก่า 15 กุมภาพันธ์] 1887) เป็นนักเคมีและนักดนตรีชาวรัสเซีย ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ทั้งด้านการประพันธ์ดนตรีคลาสสิก และการค้นคว้าด้านเคมี ทั้งยังเป็นอาจารย์ที่น่าศรัทธาของลูกศิษย์ด้วย
ประวัติส่วนตัว
ชาติกำเนิด
อะเล็กซานเดอร์ โพร์ฟิเรวิช โบโรดิน เป็นชาวรัสเซีย เชื้อสายจอร์เจีย เกิดวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2378 ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในรัสเซีย เป็นบุตรนอกกฎหมายของเจ้าชายแห่งจอร์เจียองค์หนึ่ง มีพระนามว่าเจ้าชายลูกา เกเดวานิชวิลี แห่งอิเมเรเทีย เป็นตำบลในทางตอนใต้ของคอเคซิส ทว่าในสูติบัตรนั้น แจ้งเป็นลูกของโพฟิริอี โบโรดิน บริวารคนหนึ่งของตน และให้ครอบครัวนั้นเป็นผู้เลี้ยงดู ทว่ายังติดต่อกับบิดามารดาที่แท้จริงอยู่บ้าง โดยคอยช่วยเหลือเพื่อส่งเสียให้เติบโตมีฐานะที่คู่ควร บิดาและมารดาของโบโรดินนั้นแยกทางกัน บิดาอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ส่วนมารดาอยู่ในกรุงมอสโคว์ เมื่อโบโรดินอายุได้ 8 ขวบ บิดาก็ถึงแก่กรรม
ตอนเป็นเด็กโบโรดินมีอุปนิสัยค่อนข้างอ่อนไหว ป่วยง่าย เก็บตัว ไม่ค่อยพูด และคิดมาก ตามประวัติเล่าว่าอะเล็กซานเดอร์ โบโรดินได้เข้าเรียนอย่างดี โดยได้เรียนดนตรีพร้อมกันด้วย และเขาก็สามารถเล่นดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งเปียโน ฟลุต และเชลโล นอกจากนี้ยังได้เรียนพิเศษภาษาต่างประเทศด้วย ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศส
เมื่ออายุ 8 ขวบ ก็สามารถเล่นฟลุตและเปียโนได้ (ทหารคนหนึ่งมาช่วยสอนให้) และความสามารถด้านดนตรีของเขาก็ฉายแสงนับตั้งแต่นั้น เขาแต่งเพลงชิ้นแรก ชื่อว่า เฮเล โพลกา เมื่ออายุ 9 ขวบ แต่ในเวลานั้นเขายังแสดงความสนใจอย่างมากในวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านเคมี เมื่ออายุ 13 ปี โบโรดินได้สร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่มุมต่างๆ ในอะพาร์ตเมนต์ และได้ทดลองต่างๆ มากมาย ทั้งนี้เขายังผสมสารเคมีจนได้เป็นสีน้ำ ซึ่งนับว่าน่าสนุกและภาคภูมิใจสำหรับเด็กวัยนั้น
เข้าศึกษา
สถาบันการแพทย์
เมื่ออายุได้ 16 ปี โบโรดินก็เข้าเรียนในสถาบันการแพทย์-ศัลยศาสตร์หลวง (Imperial Academy of Medicine and Surgery) ซึ่งมีการเรียนการสอนหลายวิชา ทั้งการแพทย์ กายวิภาค และเคมี เป็นต้น ช่วงสองปีแรกนั้น โบโรดินมีความสนใจอย่างมากในด้านเคมี โดยได้เรียนกับศาสตราจารย์นิโคไล น. ซินิน (พ.ศ. 2355-2423) ผู้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไนโตรกลีเซอรีน ซึ่งมีการสังเคราะห์ครั้งแรก ในปี 2389 โดยนักเคมีชาวอิตาลี ชื่อ อัสคานิโอ โซเบรโร ผลงานการบุกเบิกด้านอนุพันธ์ของซีนินทำให้มนุษยชาติทั่วโลกสามารถใช้สีสังเคราะห์ได้นับตั้งแต่นั้น และซีนินได้ชื่อว่าเป็น “พ่อมดแห่งไนเตรต”
นักเคมีผู้ยิ่งยงอีกคนหนึ่ง คือ อัลเฟรด โนเบล ที่เรารู้จักดี ก็เคยมาอาศัยอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแห่งนี้ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จนถึง 30 ปี เขาได้ศึกษาเป็นการส่วนตัวในห้องทดลองของซีนีน และเมื่ออายุได้ 17 ปี โนเบลก็เริ่มมีทักษะความรู้ดีในด้านเคมี ซึ่งในห้องทดลองของเซนินนี้เอง ที่โนเบลได้เรียนรู้เกี่ยวกับไนโตรกลีเซอรีนเป็นครั้งแรก เขาออกจากรัสเซียเมื่อ พ.ศ. 2393 และศึกษารวมทั้งทำงานในต่างประเทศอีก 5 ปี จากนั้นก็กลับมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้ง โดยมาทำงานต่อในห้องทดลองของซีนิน และโรงงานของบิดา กระทั่งเกิดล้มละลายทางธุรกิจในปี 2402 ในปีนั้น โบโรดินเรียนอยู่ชั้นปี 3 โดยเริ่มทำงานการทดลองขั้นสูงในห้องทดลองของซีนิน สำหรับซินีนนั้นยังได้สร้างระเบิดอานุภาพสูงจากไนโตรกลีเซอรีน เพื่อใช้ในสงครามไครเมีย (พ.ศ. 2396 – 2399) ด้วย
ศัลยแพทย์
เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2399 โบโรดินก็จบการศึกษาจากสถาบันการแพทย์-ศัลยศาสตร์ และได้รับตำแหน่งเป็นศัลยแพทย์ฝึกหัด ประจำโรงพยาบาลทหาร ช่วงเวลาสามปีแรกที่นั่นเป็นช่วงที่ยุ่งยากลำบากใจมากสำหรับศัลยแพทย์หนุ่มคนนี้ ครั้งหนึ่งมีคนขับรถม้าของนายทหารระดับสูงคนหนึ่งถูกนำตัวมาส่งที่โรงพยาบาล โดยที่โบโรดินจะต้องตัดกระดูกออก ขณะที่ผ่าตัดสั้น เครื่องมือที่ใช้อยู่ก็หักขณะกำลังผ่าคอคนไข้ แต่ศัลยแพทย์หนุ่มก็พยายามดึงเศาเครื่องมือและกระดูกออกมาได้ในที่สุด เขากล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเครื่องมือผ่าตัดฝังที่คอคนไข้ เขาคงจะต้องขึ้นศาลทหาร และถูกส่งไปขังในไซบีเรียแน่ๆ
ครั้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2401 โบโรดินก็ได้รับปริญญาเอก หลังจากเขียนวิทยานิพนธ์ “ว่าด้วยการเปรียบเทียบกรดอาร์เซนิก และกรดฟอสฟอริก” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสถาบันแห่งนี้ ที่มีการเขียนและสอบวิทยานิพนธ์เป็นภาษารัสเซีย (เดิมนั้นจะต้องเขียนเป็นภาษาละติน คงจะทำนองเดียวกับการศึกษาในบ้านเราปัจจุบัน ที่นิยมจัดประชุม เขียนวิทยานิพนธ์ หรือเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ แทนที่จะใช้ภาษาไทยของเราเอง)
ศึกษาต่อด้านเคมีในยุโรป
ในเดือนตุลาคม ปีถัดมา ก็ได้เดินทางในฐานะตัวแทนของสถาบันการแพทย์ศาสตร์-ศัลยศาสตร์ พร้อมกับเมนเดเลเยฟ, เซเคนอฟ และบอตคิน ทั้งนี้ซีนินเสนอว่าโบโรดินควรใช้เวลาในต่างประเทศสักระยะหนึ่ง เพื่อหาประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่จะได้รับเมื่อเดินทางกลับมา ด้วยเหตุนี้โบโรดินจึงเลิกอาชีพศัลยแพทย์ ซึ่งสำหรับเขาดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ผิด
สำหรับโบโรดิน เขามีความนิยมดนตรีมาก ถึงขนาดที่หลายคนห่วงว่าจะไปเบียดบังการศึกษาด้านเคมีของเขา ครั้งหนึ่งซีนินเตือนเขาว่า “ดอกเตอร์โบโรดิน คงจะดีกว่านี้ ถ้าคุณคิดเรื่องการเขียนเพลงน้อยลง ผมตั้งความหวังทุกอย่างไว้ที่คุณและอยากให้คุณมาสืบทอดงานของผมต่อในวันข้างหน้า คุณเสียเวลามากเกินไปในการคิดเรื่องดนตรี คนเราไม่สามารถเชี่ยวชาญสองอย่างได้หรอก”
เดิมนั้นโบโรดินตั้งใจจะไปทำงานในห้องปฏิบัติการของบุนเสน (Robert Wilhelm Bunsen : 2354 - 2442) ในเมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ตามคำแนะนำของซีนิน แต่เมื่อทราบสภาพเงื่อนไขของที่นั่นแล้ว โบโรดินก็ตัดสินใจว่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในเมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี โดยทำงานกับเพื่อนๆ คือ เมนเดเลเยฟ, เซเชนอฟ และบอตคิน ในห้องปฏิบัติการของ Privatdozent E Erlenmeyer (Privatdozent นั้นเป็นตำแหน่งทางวิชาการของผู้สอนในมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ก่อนจะรับตำแหน่ง ศาสตราจารย์) ผู้ค้นพบกฎแอร์เลนเมเยอร์ ทุกคนที่เดินทางมานี้ ได้สร้างคุณประโยชน์แก่วงการเคมีของรัสเซียและของโลกเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเมนเดเลเยฟ (2377 – 2450) นั้น ได้สร้างตารางธาตุที่นักเรียนวิทยาศาสตร์ต้องเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา อีวาน เอ็ม เซเชนอฟ (2372 – 2448) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันสรีรวิทยาของรัสเซีย ส่วนเซเชนอฟ และเซอร์ไก พี บอตคิน (2375 - 2432) ก็ได้สร้างโรงเรียนวิทยาศาสตร์ของตนขึ้น มีลูกศิษย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลและเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงหลายคนด้วยกัน
เมื่อปลายปี 2403 โบโรดินก็เดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และอยู่ที่นั่นกระทั่งฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา โดยได้ศึกษาตามคำแนะนำของซีนิน และได้เดินทางไปยังไฮเดลเบิร์กในปี 2404 ซึ่งได้พบกับภรรยาในอนาคต เธอเป็นสาวรัสเซีย วัย 29 ปี นามว่า คาเทรีนา โพรโทโพวา เวลานั้นเธอเดินทางมารักษาวัณโรคที่ไฮเดลเบิร์ก และทั้งสองมีความรักต่อกันด้วยดี และเมื่อแพทย์แนะนำให้เธอไปพักผ่อนในเมืองที่อบอุ่น ทั้งสองจึงพากันเดินทางไปที่เมืองปิซา ประเทศอิตาลี โดยที่โบโรดินทำงานต่อเนื่องกับนักเคมีที่มีชื่อเสียงสองคนในปิซา นั่นคือ ลุคคา และทัสซินารี
ระหว่างปี พ.ศ. 2403-5 โบโรดินได้ทำงานวิจัยของเขาในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยในประเทศอิตาลี แม้ว่านักวิจัยชาวอิตาลีจะไม่คุ้นกับการรับนักวิจัยต่างชาติมากนักก็ตาม โบโรดินได้ใช้เบนซิลครอไรด์ทำปฏิกิริยากับโปแตสเซียม ไบฟลูออไรด์ งานชิ้นนี้ถือว่าสร้างชื่อเสียงให้แก่โบโรดินพอสมควรทีเดียว เพราะพันธะคาร์บอนที่มีกับฟลูออรีนนั้นแข็งแรงที่สุด ในบรรดาพันธะกับธาตุอื่นๆ และเป็นงานยากที่จะทำกับฟลูออรีน งานชิ้นนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอิตาลี ในวารสาร Nuovo Cimento และเขาได้ส่งให้เอร์เลนเมเยอร์ ในเยอรมนีซึ่งได้เขียนบทคัดย่อตีพิมพ์ในวารสาร Zeitschrift อย่างไรก็ตาม ในหลายปีต่อมา ได้มีการตีพิมพ์ผลงานที่คล้ายคลึงกันของฮุนสคีคเคอร์ บทความวิชาการระบุว่าเหตุที่ผลงานของโบโรดินไม่แพร่หลาย ก็เพราะการบรรยายของเขาไม่ชัดเจนเท่ากับผลงานในชั้นหลัง แม้ว่าเขาจะเป็นผู้บุกเบิกคนแรกก็ตาม
กลับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2405 โบโรดินก็เดินทางกลับสถาบันเดิม ที่เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านอินทรีย์เคมี นอกเหนือจากงานสอนแล้ว เขายังเป็นผู้บรรยายในสถาบันวนศาสตร์แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นที่ปรึกษาด้านเคมีของนักอุตสาหกรรมและเมืองต่างๆ ในปี 2409 เขาได้รับเชิญให้ไปสำรวจแหล่งน้ำแร่และประเมินผลทางการแพทย์ในเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และยังมีทะเลสาบน้ำเค็มแห่งหนึ่งด้วย
ในฐานะเป็นผู้สอนนั้น โบโรดินเป็นที่รักใคร่ของลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานเสมอ เขาให้เวลาเต็มที่กับการตอบข้อสงสัยของนักศึกษาซึ่งสนิมสนมคุ้นเคยกันดี โบโรดินมักจะเตือนนักศึกษาเมื่อทำงานผิดพลาด ว่า “ถ้าเธอทำงานต่อไปอย่างนั้น ไม่นานเธอคงทำลายเครื่องมือดีๆ ของเราหมดแน่” หรือไม่ก็ “เธอทำกลิ่นร้ายๆ ในห้องทดลองสวยๆ นี่ได้ยังไง” แล้วเขาก็ให้นักศึกษาที่เลินเล่อผู้นั้นไปทำงานในห้องอื่น
นอกจากนี้ยังมีข้อความที่อ้างว่าโบโรดินกล่าวได้กล่าวไว้ เมื่อสอนนักศึกษาแพทย์ ให้ดูแลผู้ป่วยอย่างไร โดยกล่าวว่า “เราจะไม่รักษาไข้ แต่เราจะรักษาผู้ป่วย” (we never treat the sickness, we treat the sick)
แม้โบโรดินจะทำงานเป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านเคมีที่นั่น ขณะเดียวกันเขาก็ยังรักงานด้านดนตรี แต่ไม่ค่อยจะมีเวลาให้มากนัก เนื่องจากภารกิจการงาน และภาระทางบ้าน กระนั้นก็ยังอุตส่าห์มีผลงานการประพันธ์ดนตรี อยู่บ้าง แม้ว่าไม่มากนัก โดยจัดเป็นหนึ่งใน “คีตกวีวันอาทิตย์”
ในช่วงต้นของการทำงาน โบโรดินได้พบกับมิลี บาลาคิเรฟ นักคณิตศาสตร์และนักดนตรี และได้ชักชวนให้รวมกลุ่มเป็น คณะพรรคทั้งห้า ได้แก่ มิลี บาลาคิเรฟ, เคซาร์ คุย, โมเดสท์ มุสซอร์กสกี, นิโคไล ริมสกี-คอร์ซาคอฟ และอะเล็กซานเดอร์ โบโรดิน (ชื่อกลุ่มในภาษารัสเซีย คือ มอร์กูซยา คูซคา ซึ่งหมายถึงกลุ่มเล็กๆ แต่ทรงพลัง อาจแปลว่า เล็กพริกขี้หนู ก็ได้) นักดนตรีกลุ่มนี้อุทิศตนเพื่อสร้างดนตรีสำนักใหม่ของรัสเซีย ในเวลาต่อมาทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเมื่อถึงแก่กรรม ศพของทุกคนก็ถูกนำไปฝังในสุสานแห่งเดียวกันด้วย
โบโรดินนั้นเป็นนักดนตรีแนวชาตินิยมผู้ซื่อสัตย์ นิยมสอดแทรกดนตรีพื้นบ้านรัสเซียไว้ในงานดนตรีของเขา ครั้งหนึ่งเมื่อเขาเดินทางไปยุโรป เขาได้พบกับคีตกวีเอกท่านหนึ่ง คือ ฟรานซ์ ลิซท์ และได้สนิทสนมเป็นเพื่อนและที่ปรึกษางานดนตรีด้วย
แต่งงาน
“คาเทีย” ภรรยาของโบโรดิน
ภรรยาของโบโรดินชื่อ “คาเทีย” หรือ เอคาเทรีนา เซอร์เกเยฟนา โปรโตโปโปวา ทั้งสองพบกันครั้งแรกในเยอรมนี ขณะที่กำลังศึกษา ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งในสถาบันดังกล่าว และแต่งงานกันเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2406 ภรรยาของเขาก็เป็นนักดนตรีด้วย เธอเป็นนักเปียโน โดยมีความสามารถพิเศษที่เรียกว่า "เพอร์เฟกต์พิตช์" คำนี้เป็นศัพท์ทางดนตรี หมายถึง ความสามารถในการแยกแยะโน้ตเสียงและจังหวะทางดนตรีได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงดนตรีที่แม่นยำตามนั้นด้วย แน่นอนว่าทั้งสองได้มีรสนิยมทางดนตรีที่คล้ายกัน และได้ชวนกันไปงานคอนเสิร์ตต่างๆ ของยุโรประหว่างที่ทั้งสองพักอยู่ที่นั่น ระหว่างนั้นโบโรดินได้ศึกษาแนวดนตรีของชาติต่างๆ ในยุโรป และซึมซับกับแนวดนตรีของเมนเดลส์ซอน ชูมันน์ และโชแปงด้วย
ชีวิตครอบครัวของทั้งสองนั้นค่อนข้างวุ่นวาย ที่อะพาร์ตเมนต์มักจะเต็มไปด้วยแขกที่ไม่ได้เชิญ และไม่มีเวลารับประทานอาหารที่แน่นอน นอกจากนี้ยังมีแมวจำนวนมาก ทั้งที่เลี้ยง และไม่ได้เลี้ยง เมื่อถึงช่วงฤดูร้อน โบโรดินและภรรยาจะเดินทางไปตากอากาศในชนบท เดินเท้าเปล่า โดยไม่มีภาระด้านการงานติดตัวมาด้วย
แม้ว่าคาเทียจะป่วยเรื้อรัง แต่โบโรดินก็เป็นสามีที่ซื่อสัตย์ และใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขด้วยดี โดยไม่มีบุตร อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2412 โบโรดินได้เลี้ยงเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ชื่อ ลิซา บาลาเนวา เป็นบุตรบุญธรรม และต่อมาก็รับเด็กหญิงอีกคนหนึ่ง ชื่อ "เอเลนา กูเซวา"
อาชีพนักเคมี
โบโรดินได้รับการยกย่องและได้รับความนับถืออย่างมากในรัสเซียเวลานั้นในฐานะนักเคมี โดยมีผลงานที่โดดเด่นคือ งานเกี่ยวกับสารประกอบจำพวกแอลดีไฮด์ (aldehydes) กล่าวคือ ในระหว่าง พ.ศ. 2402 – 2405 เขาได้ทำงานในฐานะนักวิจัยหลังปริญญาเอก ในเมืองไฮเดลเบิร์ก แห่งเยอรมนี โดยได้ทำงานเกี่ยวกับอนุพันธ์ของเบนซีน ในห้องปฏิบัติการของเอมิล เอร์เลนเมเยอร์ นอกจากนี้ยังเดินทางไปยังเมืองปิซา ประเทศอิตาลี เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบฮาโลเจน ในช่วงเวลาดังกล่าว รัสเซียถือว่าไม่ตื่นตัวมากนักในด้านเคมี ปฏิกิริยาที่เขาค้นพบ ได้แก่ การทำปฏิกิริยาของฟลูออรีนในสารประกอบอะโรมานิก (พ.ศ. 2405 แต่ผู้ได้รับการยกย่องคือ วูซ เลนซ์ ซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2420) และปฏิกิริยาอย่างใหม่ ระหว่างโบรมีน และเกลือเงินอินทรีย์ (พ.ศ. 2412 แต่ผู้ได้รับการยกย่อง คือ ฮุนสดีเคอร์ ซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2485)
มีการตีพิมพ์ผลงานวิชาการเมื่อ พ.ศ. 2405 เกี่ยวกับปฏิกิริยาระหว่างคลอรีนและฟลูออรีน ในสารเบนซิลคลอไรด์ หลังจากนั้น ในปี 2482 ทางกลุ่มฮันสดีคเคอร์ได้ตีพิมพ์บทความว่าด้วยปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งทางตะวันตกเรียกกันว่า ปฏิกิริยาฮุนดีเดอร์ (Hunsdiecker reaction) แต่สหภาพโซเวียต เรียกปฏิกิริยานี้ว่า “ปฏิกิริยาโบโรดิน”
เมื่อ พ.ศ. 2404 โบโรดินเดินทางกลับยังสำนักการแพทย์-ศัลยศาสตร์ และทำงานอยู่ที่นั่น โดยได้ศึกษา ปฏิกิริยาการควบแน่นของแอลดีไฮด์ โมเลกุลเล็กๆ และตีพิมพ์ผลงานเหล่านี้เมื่อ พ.ศ. 2407 และ 2412 โดยเป็นงานที่ทำแข่งกับนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง คือ เอากุสต์ เคคูเล (August Kekule : 2372 - 2439)
ครั้งหนึ่งเมื่อโบโรดินไปประชุมสมาคมเคมีรัสเซีย เคคูเลกล่าวหาว่าโบโรดินขโมยผลงานของตน (ไม่ใช่ตัวงาน แต่หมายถึ’ความคิดในงานดังกล่าว) เขาตีพิมพ์เรื่องนี้ในวารสารของสมาคมเคมีเบอร์ลิน ทำให้โบโรดินอยากประกาศเรื่องที่ตนได้ค้บพบและบอกว่าตนเริ่มศึกษาปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2408 แต่เคคูเลเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2413
ปฏิกิริยาอัลดอล
โบโรดินได้รับการยกย่องในฐานะผู้ค้นพบปฏิกิริยาอัลดอล (Aldol reaction) (ในภายหลังชาลส์ วูทซ์ ก็ได้ค้นพบปฏิกิริยาดังกล่าว) และเมื่อ พ.ศ. 2415 เขาได้ประกาศต่อสมาคมเคมีรัสเซีย ถึงการค้นพบผลพลอยได้ (by-product) ใหม่ในปฏิกิริยาแอลดีไฮดฺ์ โดยมีคุณสมบัติคล้ายกับผลพลอยได้ของแอลกอฮอล์ และเขาได้ตั้งข้อสังเกตถึงความคล้ายคลึงกันกับสารประกอบที่เคยอภิปรายมาแล้วในผลงานตีพิมพ์ของวูทซ์ ในปีนั้น
งานวิจัยทางเคมีส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับอินทรีย์เคมี เช่น การสำรวจเคมีของเบนซิดีน การเตรียมสารเอซิลฟลูออไรด์ การค้นพบปฏิกิริยาฮุนสดีคเคอร์ ตั้ง 73 ปีก่อนฮุนดีคเคอร์ พัฒนาวิธีการเชิงวิเคราะห์สำหรับยูเรีย และที่สำคัญที่สุด ก็คือ การศึกษาปฏิกิริยาการควบแน่นที่มีเบสเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และการพอลิเมอร์ไรซ์แอลดีไฮด์ อย่างไรก็ตามแวดวงการศึกษาที่นั่น (เมื่อเทียบกับที่อื่นในยุโรป) ยังถือว่าด้อย มีนักศึกษาวิจัยจำนวนน้อย มีหน้าที่รับผิดชอบการสอนสูง (เขายังเป็นหนึ่งในบุคคลยุคแรกๆ ที่ให้การศึกษาด้านการแพทย์สำหรับสตรีด้วย) ดังนั้นผลผลิตทางเคมีของเขา ก็มีจำนวนน้อย เช่นเดียวกับผลงานด้านดนตรี แต่หากจะพูดในแง่คุณภาพแล้ว นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งยกย่องว่าผลงานด้านดนตรีของเขาโดดเด่นกว่าด้านเคมี
ในช่วงชีวิตของเขา การเป็นนักเคมีถือว่าสำคัญกว่า เขาเป็นเพื่อนสนิทของดมิตรี เมนเดเลเยฟ (ผู้คิดตารางฐานแบบปัจจุบัน) อ่านบทความวิชาการในเมืองไฮเดลเบิร์ก, บรัสเซลส์ และปารีส ตีพิมพ์ผลงานมากมายว่าด้วยแอลดีไฮด์ และเป็นศาสตราจารย์เต็มเวลา ที่สำนักการแพทย์-ศัลยศาสตร์ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่ออายุสามสิบเอ็ด และได้รับห้องปฏิบัติการเคมีส่วนตัวในปีต่อมา
โบโรดินตีพิมพ์ผลงานการวิจัยเกี่ยวกับไนโตรเจนน้อยมาก แต่การพัฒนาอุปกรณ์วัดยูเรียในปัสสาวะของสัตว์นั้นนับว่ามีนัยสำคัญ โดยในปี 2419 เขาได้ตีพิมพ์บทคัดย่อบรรยายถึงอุปกรณ์ดังกล่าว
บทความสมบูรณ์ชิ้นสุดท้ายของเขาตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2418 ว่าด้วยปฏิกิริยาของเอไมด์ และผลงานตีพิมพ์ครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับวิธีการเพื่อจำแนกยูเรียในปัสสาวะของสัตว์
นอกเหนือจากงานด้านปฏิบัติการแล้ว โบโรดินยังมีส่วนอย่างมากในการบริหารสถาบันดังกล่าว และยังได้ร่วมมือกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ก่อตั้งหลักสูตรการแพทย์สำหรับสตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัสเซีย เพื่อ พ.ศ. 2415 ซึ่งเขาได้อุทิศตนกับงานดังกล่าวอย่างยิ่ง
งานด้านดนตรี
เนื่องจากต้องใช้เวลามากกับงานด้านเคมี โบโรดินจึงมีเวลาทำงานดนตรีไม่มากนัก งานดนตรีของเขาจึงเป็นงานอดิเรก เขาพูดติดตลก เตือนเพื่อนๆ ในแวดวงดนตรีว่าอวยพรให้เขามีสุขภาพดี เพราะเขาทำงานในห้องทดลองในช่วงที่สุขภาพดี และเขียนดนตรีในช่วงที่ไม่สบาย งานชิ้นเอก อย่างอุปรากรเรื่องเจ้าชายอิกอร์นั้น โบโรดินใช้เวลาประพันธ์ถึง 18 ปี แต่ก็ยังไม่เสร็จ นิโคไล ริมสกี้-คอร์ซาคอฟ และอะเล็กซานดร กลาซูนอฟ มาช่วยแต่งต่อจนจบ ผลงานการแต่งเพลงชิ้นแรกของโบโรดินนั้น เป็นผลงานเมื่อเขาอายุเพียงเก้าขวบ เป็นเพลงโพลกา ในบันไดเสียงดี ไมเนอร์ ชื่อเพลง “เฮเลนา โปลกา” โดยแต่งเพื่อหญิงที่ชื่อเอเลนา
ฉากหนึ่งจากโอเปร่าเรื่อง "เจ้าชายอิกอร์"
โบโรดินยังได้ประพันธ์ดนตรีแชมเบอร์อีกจำนวนหนึ่ง และมีสตริงควอเตตอีกหลายชิ้น นอกจากนี้ยังมีทริโอ ในบันไดเสียงดีเมเจอร์ สำหรับไวโอลิน เชลโล และเปียโน ดนตรีที่ไพเราะเป็นพิเศษของเขานั้นเป็นที่นิยมกันในรัสเซีย และเริ่มมีการนำไปบรรเลงในตะวันตกด้วย และเริ่มมีการบรรเลงและบันทึกกันมากขึ้น
โบโรดินได้พบกับมิลี บาลากิเรฟ (Mily Balakirev) เมื่อ พ.ศ. 2405 ขณะที่เขากำลังแต่งซิมโฟนีเพลงแรกของเขา (โดยธรรมเนียม ก็จะเรียกว่า ซิมโฟนี หมายเลขหนึ่ง) มีการจัดบรรเลงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมีวาทยกร คือ มิลี บาลากิเรฟ และในปีเดียวกันนั้น โบโรดินก็เริ่มซิมโฟนีหมายเลขสอง (ในบันไดเสียง บี ไมเนอร์) แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในการบรรเลงรอบปฐมฤกษ์ เมื่อปี 2422 แต่ในการบรรเลงครั้งย่อยๆ ในปีเดียวกัน กลับประสบความสำเร็จด้วยดี โดยวงดนตรีที่มีริมสกี-คอร์ซาคอฟควบคุมการบรรเลง
ในปี 2412 นั้น โบโรดินเริ่ม distracted จากงานช่วงแรกของซิมโฟนีหมายเลขสอง .. เจ้าชายอิกอร์ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของเขา และเป็นหนึ่งในโอเปร่าที่มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์เรื่องสำคัญที่สุดของรัสเซียทีเดียว ในโอเปร่าเรื่องนี้ยังมี Polovetsian Dances ซึ่งมักจะบรรเลงเป็นงานคอนเสิร์ตเอกเทศ ก็อาจนับเป็นผลงานประพันธ์ที่รู้จักกันดีที่สุดของโบโรดิน
ชื่อเสียงของโบโรดินด้านดนตรีในระดับนานาชาตินั้น เริ่มปรากฏ หลังจากปี พ.ศ. 2420 เมื่อเขาพบกับฟรานซ์ ลิสต์
ในปีเดียวกันนั้น เขาได้เริ่มเขียนโอเปร่า 3 องก์จบ เรื่อง เจ้าชายอิกอร์ โดยอิงเนื้อหาจากตำนานกองทัพของอิกอร์ ในสมัยคริสตศตวรรษที่สิบสอง เจ้าชายอิกอร์ถูกจับได้ พระองค์ชักชวนให้ทหารรื่นเริงโดยการเต้นรำแบบพื้นเมือง แต่ความคืบหน้าของงานนั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะเขาต้องทำงานประจำ หลังจากปี พ.ศ. 2424 เขาได้วางมือจากโอเปร่านี้ไปราว 5 ปี
นับว่าน่าเสียดายที่โบโรดินต้องทิ้งผลงานโอเปร่านี้ และผลงานอื่นๆ จำนวนหนึ่งค้างไว้ สำหรับโอเปร่าเรื่องเจ้าชายอิกอร์นี้ นิโคไล ริมสกี-คอร์ซาคอฟ และอะเล็กซานเดอร์ กลาซูนอฟ ได้มาช่วยแต่งเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์
ผลงานอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงของโบโรดิน ได้แก่ บทกวีซิมโฟนี ชื่อ ในทุ่งหญ้าสเตปปส์ของเอเชียกลาง และสตริงควอเตต ในบันไดเสียง ดี เมเจอร์ (เขาแต่งสตริงควอเตตไว้สองเพลง) ประพันธ์ขึ้นในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 25 พรรษา ของพระเจ้าซาร์ อะเล็กซานเดอร์ที่สอง แห่งรัสเซีย ผลงานชิ้นนี้เขาอุทิศให้แก่ฟรานซ์ ลิสท์ นักประพันธ์ดนตรีชาวฮังการี ซึ่งโบโรดินเคยพบเมื่อ พ.ศ. 2420 เมื่อเขานำนักศึกษาวิชาเคมีสองคนเดินทางไปเยอรมนี เพื่อทำงานวิจัยที่เมืองเยนา
เมื่อถึงปี 2425 โบโรดินก็เริ่มแต่งซิมโฟนีเพลงที่สาม แต่แต่งไว้ยังไม่เสร็จ ก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ที่เขาแต่งค้างไว้สองท่าน มีนักประพันธ์ดนตรีมาแต่งและเรียบเรียงเพิ่มเติมจนสมบูรณ์ สำหรับผลงานอื่นๆ ได้แก่ บทเพลงเปียโนสั้นๆ และเพลงศิลปะ (art song) ที่มีชื่อเสียง ได้แก่เพลง Petite Suite
นอกจากนี้ก็ยังมีเพลงสำหรับวงแชมเบอร์มิวสิกจำนวนหนึ่งด้วย เช่น สตริงควอเตตหลายเพลง และทริโอ ในบันไดเสียงดี เมเจอร์ สำหรับไวโอลิน เชลโล และเปียโน งานดนตรีของรัสเซียนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในเบลเยียมและฝรั่งเศส เมื่อโบโรดินเดินทางไปยังเบลเยียมในปี พ.ศ. 2428 – 2429 เขาก็พบว่างานของเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในยุโรปตะวันตก ความไพเราะของบทเพลงเหล่านี้เป็นที่นิยมกันทั่วไปในรัสเซีย และเริ่มได้ยินไปในคอนเสิร์ตทางตะวันตกด้วย แม้กระทั่ง Kismet (1953) ท่วงทำนองก็มาจากบทเพลงของโบโรดิน ทำให้ผลงานของโบโรดินเป็นที่สนใจของโลกตะวันตก ซึ่งมีการแสดง และบันทึกกันมากขึ้น
อิทธิพลทางดนตรี
ชื่อเสียงของโบโรดินนอกจักรวรรดิรัสเซียในช่วงที่เขายังมีชีวิตนั้น อาจเป็นผลจากนักประพันธ์ดนตรีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง นั่นคือ ฟรานซ์ ลิสท์ ซึ่งได้จัดการบรรเลงซิมโฟนีเพลงแรกของโบโรดินในเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2423 และโดยกองเตส เดอ แมกซี-อาร์เยนโตในประเทศเบลเยียมและฝรั่งเศส งานดนตรีของโบโรดินมีชื่อเสียงเป็นที่นิยม และมีอิทธิพลยืนยาวต่อนักประพันธ์ดนตรีรุ่นหนุ่มของฝรั่งเศส เช่น เคลาเดอ ดีบุชชี และเมาริซ ราเวล (ราเวลยังได้แต่งเพลงเพื่อรำลึกถึงโบโรดิน เมื่อ พ.ศ. 2456 เป็นบทเพลงเปียโน ตั้งชื่อว่า “À la manière de Borodine” มีความหมายว่า รำลึกถึงโบโรดิน นั่นเอง) ส่วนบทเพลง Borodin String Quartet ก็แต่งขึ้นและตั้งชื่อเพื่อรำลึกถึงเขา
ผลงานชิ้นสำคัญ
ออร์เคสตร้า
ซิมโฟนีหมายเลข 1 ในบันไดเสียง อีแฟลต (พ.ศ. 2405 -10)
ซิมโฟนีหมายเลข 2 ในบันไดเสียงบีไมเนอร์ (พ.ศ. 2412-9)
ซิมโฟนีหมายเลข 3 (แต่งไม่จบ)
บทกวีซิมโฟนี "In the Steppes of Central Asia" (ในทุ่งหญ้าสเตปปส์ของเอเชียกลาง) พ.ศ. 2423
สตริงควอเตต ในบันไดเสียง เอ
สตริงควอเตต ในบันไดเสียง ดี
Prince Igor (โอเปร่า) แต่งไม่จบ, ริมสกี-คอร์ซาคอฟ และกลาซูมอฟ มาช่วยแต่งต่อจนจบ
บทเพลงสั้น
Spyashchaya knyazhna (เจ้าหญิงนิทรา)
Morskaya tsarevna (เจ้าหญิงทะเล)
Pesnya tyomnovo lesa (บทเพลงแห่งป่าทึบ)
More (ทะเล)
Dlya beregov otchizni dal'noy (แก่ชายฝั่งมาตุภูมิของท่าน)
ผลงานด้านดนตรีของโบโรดินนับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับนักประพันธ์ดนตรีท่านอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเขาต้องใช้เวลาในการสอนและวิจัยด้านเคมีไปด้วย
เขาได้ประพันธ์งานดนตรีชิ้นใหญ่เพียงสามชิ้นเท่านั้น มีซิมโฟนี 1 เพลง, สตริงควอเตต 1 เพลง และโทนโพเอ็มบทสั้นๆอีก 1 เพลง นอกจกานี้ก็มีเพลงอื่นๆประมาณ 5-6 เพลง และบทเพลงเปียโนชิ้นเล็กๆ ไม่กี่ชิ้น ส่วนซิมโฟนีเพลงที่ 2 และสตริงควอเตตเพลงที่ 2 ประพันธ์และบรรเลงขึ้น แต่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ (ปัจจุบันถือเป็นงานมาตรฐานทั้งสองชิ้น)
คุณลักษณะทั่วไปทางดนตรีของโบโรดินนั้นมีลักษณะประนีประนอม และแสดงความรักในชีวิต มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้ภาษาบรรยายเนื้อเพลง เขาต้องการแสดงความเป็นรัสเซียในงานดนตรีของเขา แต่ไม่แสดงความรู้สึกของบุคลิกส่วนตัว
วาระสุดท้าย
รูปปั้นหน้าหลุมศพของโบโรดิน ในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ด้านหลังเป็นโน้ตจากบทเพลงที่เขาประพันธ์ขึ้น
โบโรดินเสียชีวิตเพราะหัวใจวาย ขณะไปร่วมงานเต้นรำ เมื่อวันที่ 15 (บางตำราว่า 27 หรือ 28) เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430 ขณะที่เขามีอายุ 54 ปี เขาสวมเสื้อเชิร์ตสีแดง รองเท้าบู๊ตยาว อันเป็นชุดประจำชาติของรัสเซีย และไปเต้นรำด้วยความสนุกสนาน เวลานั้นภรรยาของเขาเดินทางไปพักผ่อนในกรุงมอสโคว์ งานนี้จัดขึ้นในหมู่อาจารย์และนักศึกษาสถาบันการแพทย์ทหารที่คุ้นเคย เขาเต้นรำกับคนโน้นคนนี้ ทักทายทุกคนอย่างเป็นกันเอง และในเวลาเที่ยงคืน ขณะที่เต้นอยู่นั้น โบโรดินก็ทรุดลงนอนกับพื้น แพทย์และอาจารย์ทุกคนตรูเข้าไปช่วย แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถรั้งชีวิตเขาเอาไว้ได้ ส่วนภรรยาของโบโรดินก็ถึงแก่กรรมหลังจากนั้นไม่กี่เดือน
สิบปีหลังจากโบโรดินถึงแก่กรรม รายได้จากอุปรากรเรื่องเจ้าชายอิกอร์มีมากถึง 50,000 รูเบิล เงินจำนวนนี้บริจาคแก่สถาบัน St. Petersburg Conservatoire ในรูปของทุนการศึกษาโบโรดิน สำหรับคอมโพสเซอร์รุ่นเยาว์
อนุสาวรีย์ของโบโรดินตั้งอยู่ในเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในฐานะผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรการแพทย์สำหรับผู้หญิง เป็นครั้งแรกของรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2415
โบโรดินนั้นทุ่มเทกำลังกายกำลังใจแก่งานด้านเคมี การสอน และการศึกษาอย่างจริงจังในสถาบันเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และใช้เวลาที่เหลือกับงานอดิเรกที่ตนรัก คือการประพันธ์ดนตรี.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น