วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day)



วันนักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine's Day) หรือที่เป็นที่รู้จักว่า วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันประเพณีที่คู่รักบอกให้กันและกันทราบเกี่ยวกับความรักของพวกเขา โดยการส่งการ์ดวาเลนไทน์ ซึ่งโดยมากจะไม่ระบุชื่อ วันนี้เริ่มเกี่ยวข้องกับความรักแบบชู้สาวในช่วงยุค High Middle Ages เมื่อประเพณีความรักแบบช่างเอาใจ (courtly love) แผ่ขยาย
ประวัติ

วันวาเลนไทน์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ในกรุงโรมสมัยก่อนนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน่ซึ่งเป็นราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน ชาวโรมันรู้จักเธอในนามของเทพธิดาแห่ง อิสตรีและการแต่งงาน และในวันถัดมาคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นวันเริ่มต้นงานเลี้ยงของ Lupercalia การดำเนินชีวิตของเด็กหนุ่มและเด็กสาวในสมัยนั้นจะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเพณี อย่างนึง ซึ่งเด็กหนุ่มสาวยังสืบทอดต่อกันมา คือ คืนก่อนวันเฉลิมฉลอง Lupercalia นั้นชื่อของเด็กสาวทุกคนจะถูกเขียนลงในเศษกระดาษเล็ก ๆ และจะใส่เอาไว้ในเหยือก เด็กหนุ่มแต่ละคนจะดึงชื่อของเด็กสาวออกจากเหยือก แล้วหลังจากนั้นก็จะจับคู่กันในงานเฉลิมฉลอง บางครั้งการจับคู่นี้ ท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการที่เด็กหนุ่มและเด็กสาวทั้งสองนั้นได้ตกหลุมรักกันและแต่งงานกันในที่สุด
ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) นั้น กรุงโรมได้เกิดสงครามหลาย ครั้ง และคลอดิอุสเองก็ประสบกับปัญหาในการที่จะหาทหารจำนวนมากมายมหาศาลมาเข้าร่วมในศึกสงคราม และเขาเชื่อว่าเหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ชายโรมันหลายคนไม่ต้องการจากครอบครัวและคนอันเป็นที่รักไป และด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จักรพรรดิคลอดิอุสประกาศให้ยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้นทั้งหมดในกรุงโรม ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีนักบุญผู้ใจดีคนหนึ่งซึ่งชื่อว่า ท่านนักบุญวาเลนไทน์ ท่านเป็นพระที่กรุงโรมในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ท่านนักบุญวาเลนไทน์และนักบุญมาริอุส ได้จัดตั้งกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวคริสเตียนที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และได้จัดให้มีการแต่งงานของคู่รักอย่างลับ ๆ ด้วย
และจากการกระทำเหล่านี้เอง ทำให้นักบุญวาเลนไทน์ถูกจับและถูกตัดสินประหารโดยการตัดศีรษะ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประมาณปีคริสต์ศักราชที่ 270 ซึ่งถือเป็นวันที่ท่านได้ทนทุกข์ทรมานและเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์
การส่งดอกไม้วันวาเลนไทน์
มนุษย์ได้ใช้ดอกไม้เป็นสื่อในการแสดงความรักต่อกันมานานแล้ว เราอาจจะคิดว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่สามารถใช้สื่อความหมายเฉพาะความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วดอกไม้แต่ละชนิดสามารถสื่อความรักได้หลายรูปแบบ ไม่จำกัดเพศ  * กุหลาบแดง (Red Rose) : จะใช้ในความหมายแทน ประโยคที่ว่า "ฉันรักเธอ"  * กุหลาบขาว (White Rose) : กุหลาบขาวแทนความหมายแห่งความรักอันบริสุทธิ์  * กุหลาบชมพู (Pink Rose) : มักถูกใช้แทนความรักแบบโรแมนติก และความเสน่หาต่อกัน  * กุหลาบเหลือง (Yellow Rose) : สีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส แทนความรักแบบเพื่อน
การมอบช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์
ปัจจุบัน ปริมาณช็อกโกแลตมากกว่าครึ่งที่ขายได้ในหนึ่งปีในเทศกาลวาเลนไทน์ในประเทศ ญี่ปุ่นนั้น ผู้หญิงไม่ได้ให้ช็อกโกแลตเป็นของขวัญเฉพาะแก่ผู้ชายที่เธอรักเท่านั้น พวกเธอยังซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย เพื่อนผู้ชาย พี่น้องผู้ชาย หรือกระทั้งพ่อ เพื่อไม่ให้ผู้ชายเหล่านั้นรู้สึกเสียหน้าที่ไม่มีใครให้ช็อกโกแลต ช็อกโกแลตที่ผู้หญิงให้ผู้ชายที่เธอไม่ได้รู้สึกพิเศษอะไรด้วยจะเรียกว่า "Giri-choco" หรือช็อกโกแลตที่ให้ตามมารยาทหรือหน้าที่ ดั้งนั้น จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ในช่วงเทศกาลผู้หญิงญี่ปุ่นจะหอบเอาช็อกโกแลต 20-30 กล่องมาแจกจ่ายให้ผู้ชายทั่วสำนักงานรวมไปถึงผู้ชายที่ติดต่อกันเป็นประจำ ด้วยราคาของช็อกโกแลตชนิดนี้โดยเฉลี่ยคือตั้งแต่ 100-200 เยนต่ออัน สำหรับผู้ชายที่เธอรัก พวกเธฮจะให้ช็อกโกแลตพร้อมกับของขวัญพิเศษอื่นๆ เช่น เนคไท เสื้อผ้า ช็อกโกแลตที่มอบให้ผู้ชายที่เธอชอบอย่างจริงจังนั้นเรียกว่า "honmei-choco" ซึ่งมีราคาแพงกว่า " Giri- choco" และบางครั้งเป็นช็อกโกแลตแบบโฮมเมด ซึ่งในประเทศไทยเริ่มมีร้านค้าที่บริการจัดส่งช็อกโกแลตให้กับลูกค้าและคนพิเศษในโอกาสและเทศกาลต่างๆรวมไปถึงเทศกาลวาเลนไทน์ ด้วยบริการไปรษณีย์ EMS ซึ่งจะบรรจุลงกล่องโฟมพร้อมเจลน้ำแข็งสำหรับรักษาอุณหภูมิ เช่นร้าน โฮมช็อกโกแลต ( Home Chocolate ) เป็นต้น

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

15 วันแห่งการฉลองตรุษจีน

วันแรกของปีใหม่


เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการต่ออายุและนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตน

วันที่สอง

ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข เลี้ยงดูให้ข้าวอาบ น้ำให้แก่มัน ด้วยเชื่อว่า วันที่สองนี้เป็นวันที่สุนัขเกิด

วันที่สามและสี่

เป็นวันของบุตรเขยที่จะต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยายของตน

วันที่ห้า

เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือน ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย มาแก่ทั้งสองฝ่าย

วันที่หก

ถึงสิบชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของ ครอบครัว และไปวัดไปวาสวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและความสุข

วันที่เจ็ด

ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวนานำเอาผลผลิตของตนออกมาชาวนาเหล่านี้จะทำน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลองวันนี้ วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิด ของมนุษย์ในวันนี้อาหารจะเป็น หมี่ซั่วกินเพื่อชีวิตที่ยาวนานและปลาดิบเพื่อความสำเร็จ

วันที่แปด

ชาวฟูเจียน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์

วันที่เก้า

จะสวดมนต์ไหว้และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้

วันที่สิบถึงวันที่สิบสอง

เป็นวันของเพื่อนและญาติๆ ซึ่งควรเชื้อเชิญมาทานอาหารเย็น และหลังจากที่ทานอาหารที่อุดมไปด้วยความมัน วันที่สิบสามถือเป็นวันที่เราควรทานข้าวธรรมดากับผักดองกิมกิ ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย

วันที่สิบสี่

ความเป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะมีขึ้น ในคืนของวันที่สิบห้า

วันที่สิบห้า

งานฉลองโคมไฟ

ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน

ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล


ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่

หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่

คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน

การแต่งกายและความสะอาด

ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี

วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ

สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล

บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก

ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี

การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ

ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก

ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี

ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ ของตน

การไหว้เจ้า

การไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ
ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”

ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”

ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย

ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง

ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”

ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์

ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”

ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”


ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษกับเจ้าบางองค์ที่นับถือศรัทธา คือ

ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน

ไหว้อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9

ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3

ไหว้เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3

ไหว้อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี

ไหว้เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง”

การไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้านและแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนาทำไร่ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่วิ้ง หรือเทพยดาผืนดิน

เมื่อพูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด เครื่องเซ่นสำหรับบรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาวเพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้มีของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด
การจัดของไหว้
ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพงและหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”

ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้


ผลไม้ที่ใช้ไหว้ จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว
ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี

องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม

สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา

กล้วย มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล

ที่ในกระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า บางคนนิยมใส่ “โหงวจี้” สำหรับปักธูป ประกอบด้วย เมล็ด 5 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่วเขียว ถั่วดำ และเชื้อแป้ง (ยีสต์) โดยถือว่าเมล็ดทั้งห้า คือบ่อเกิดของการเจริญเติบโตอุปมาอุปไมยให้การไหว้เจ้านี้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง
แต่การใช้โหงวจี้ปักธูป มีข้อจำกัดว่าใช้ได้แต่ในบ้าน ถ้าเป็นการไหว้นอกบ้าน ต้องใช้ข้าวสารหรือทราย มิฉะนั้นเชื้อแป้งเมื่อถูกความชื้น เช่น ฝนหรือน้ำค้าง จะทำให้แข็งตัวแล้วปักธูปไม่ลง
เมื่อไหว้เจ้าเสร็จก็เผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นการปิดท้ายรายการ

ประวัติวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน

ประวัติของวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความปรารถนาสิ่งที่เราหวังว่าจะได้ปรับปรุง หรือที่เราคิดทำเมื่อเริ่มต้นในปีใหม่ มาถึงตอนนี้ ถ้าไม่ถูกลืมก็ถูกยัดลงกล่องใส่ตู้ปิดตายและแปะหน้าตู้ว่าไม่แน่ เอาไว้ทำปีหน้าแล้วกันอย่างไรก็ดี ความหวังก็คงยังไม่สูญไปทั้งหมดเพราะโอกาสที่สองกำลังมาถึงแล้ว กับการฉลองวันปีใหม่จีนหรือที่เรารู้จักกันว่า ตรุษจีนในวันที่ 29 มกราคม 2549 นี้ นั้นเอง
ตรุษจีนนั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี และพิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีน นั้นมีมานานกว่าศตวรรษ จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูก ทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูก ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืนเป็นต้น
วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอยจะว่าไปถือวันที่น่าตื่นเต้นมากที่สุด ในบรรดาการฉลองทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
เมื่อถึงวันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว ต่าง ออกมาเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ เริ่มจากญาติๆ แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป) ในวันตรุษนี้ อารมณ์โมโหโกรธาจะถูกลืม และไม่สนใจ การฉลองวันตรุษจีนสิ้นสุดลงในงานโคมไฟ ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ ถึงแม้ว่าการฉลองวันตรุษจีน จะมีแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน
ตำนานวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย


ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก


เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน


ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า "ตรุษจีน"

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

แมรีแห่งเท็ค สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร


เจ้าหญิงแมรีแห่งเท็ค (Princess Mary of Teck) (วิกตอเรีย แมรี ออกัสตา หลุยส์ โอลกา พอลีน คลอดีน แอ็กเนส; 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2410 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2496) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีมเหสีของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งอินเดียและพระราชินีแห่งไอร์แลนด์อีกด้วย ก่อนการเสวยราชย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นดัชเชสแห่งยอร์ค ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ มาอย่างต่อเนื่องกัน ตามพระราชสิทธิของพระองค์เอง ทรงมีพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเท็ค ในชั้น Serene Highness ในราชอาณาจักรเวือร์ทเท็มแบร์ก พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักว่า "เมย์" อย่างไม่เป็นทางการในหมู่พระประยูรญาติ ซึ่งมาจากเดือนประสูติ


หกสัปดาห์ภายหลังจากการหมั้นหมายกับเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุคแห่งคลาเรนซ์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ เจ้าชายสิ้นพระชนม์ด้วยโรคปวดบวม ในปีต่อมาเจ้าหญิงแมรีทรงหมั้นหมายกับรัชทายาทพระองค์ใหม่ พระอนุชาในเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ คือ เจ้าชายจอร์จ ในฐานะสมเด็จพระราชินีมเหสีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 พระองค์ทรงสนับสนุนพระราชสวามีตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการครั้งใหญ่ที่เกิดมาจากผลกระทบหลังสงครามและการอุบัติขึ้นของลัทธิสังคมนิยมและชาตินิยม หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชสวามีเมื่อปี พ.ศ. 2479 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระโอรสองค์โตได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี-จักรพรรดิ แต่กลับสร้างความผิดหวังให้กับพระองค์ด้วยการสละราชสมบัติในปีเดียวกันเพื่ออภิเษกกับนางวอลลิส ซิมป์สัน สาวสังคมชาวอเมริกันที่หย่าร้างมาแล้วสองครั้ง พระองค์ทรงสนับสนุนเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งทรงสืบต่อราชบัลลังก์อังกฤษเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ก็เสด็จสวรรคตในปีต่อมา

ในช่วงเวลาของพระองค์ สมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงเป็นที่รู้จักถึงการกำหนดลีลาให้พระราชวงศ์อังกฤษดำเนินไป ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างของความเป็นระเบียบทางการและขนบธรรมเนียมของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีต่างๆ พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีมเหสีพระองค์ที่ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของทายาทของพระองค์ นอกจากนั้นพระองค์ที่ยังทรงเป็นที่รู้จักถึงการประดับเพชรพลอยในงานพิธีทางการต่างๆ ทรงทิ้งชุดเครื่องเพชรต่างๆ ซึ่งถือว่าหาราคามิได้ในขณะนี้เอาไว้
พระชนม์ชีพในวัยเยาว์


เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี ("เมย์") แห่งเท็คประสูติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2410 ณ พระราชวังเคนซิงตัน กรุงลอนดอน พระชนกคือ เจ้าชายฟรานซิส ดยุคแห่งเท็ค พระโอรสในดยุคอเล็กซานเดอร์แห่งเวือร์ทเท็มแบร์ก ซึ่งประสูติกับพระชายาจากการอภิเษกสมรสต่างฐานันดรศักดิ์ (morganatic) คือ เคานท์เตส คลอดีน เรดีย์ ฟอน คิส-เรเดอ (ได้รับการสถาปนาเป็น เค้านท์เตสแห่งโฮเอ็นชไตน์ในจักรวรรดิออสเตรีย) ส่วนพระชนนีคือ เจ้าหญิงแมรี อเดเลดแห่งแคมบริดจ์ พระธิดาพระองค์ที่สามและพระองค์เล็กในเจ้าชายอดอลฟัส ดยุคแห่งแคมบริดจ์ และ เจ้าหญิงออกัสตาแห่งเฮสส์-คาสเซิล เจ้าหญิงทรงเข้าพิธีรับศีลจุ่มเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเคนซิงตัน จากชาร์ลส์ โธมัส ลองเลย์ อัครมหาสังฆราชแห่งแคนเทอเบอรี่ โดยได้ทรงมีพ่อและแม่ทูนหัวคือ สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เจ้าชายแห่งเวลส์ (สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และ พระสัสสุระของเจ้าหญิงเมย์) แกรนด์ดัชเชสแห่งเม็คเล็นบูร์ก-สเตรลิตซ์ และ ดัชเชสแห่งแคมบริดจ์

แม้พระชนนีของพระองค์จะทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แต่เจ้าหญิงเมย์ทรงเป็นเพียงเชื้อพระราชวงศ์ชั้นรองของพระราชวงศ์อังกฤษ ดยุคแห่งเท็ค พระชนกของพระองค์ทรงเป็นพระโอรสจากการอภิเษกสมรสต่างฐานันดรศักดิ์ มิทรงมีสิทธิในมรดกหรือทรัพย์สินใดๆ ทั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศชั้นเล็กอย่าง Serene Highness อย่างไรก็ตาม ดัชเชสแห่งเท็คทรงได้รับเบี้ยหวัดประจำปีจากรัฐสภาจำนวนห้าพันปอนด์ อีกทั้งยังทรงได้รับอีกสี่พันปอนด์ต่อปีจากดัชเชสแห่งแคมบริดจ์ พระชนนีอีกด้วย แม้กระนั้นครอบครัวยังคงมีหนี้สินมากและถูกบังคับให้อาศัยอยู่ต่างแดนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 เพื่อประหยัดการใช้จ่าย ครอบครัวเท็คได้เดินทางท่องไปทั่วทวีปยุโรป เพื่อเยี่ยมเยี่ยนพระประยูรญาติและพำนักอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีในช่วงระยะหนึ่ง เจ้าหญิงเมย์ได้ทรงเพลิดเพลินกับการเสด็จยังสถานที่จัดแสดงงานศิลปะ โบสถ์วิหาร และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

ในปี พ.ศ. 2428 ครอบครัวเท็คกลับมายังกรุงลอนดอนและได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตำหนักขาว ในราชอุทยานริชมอนด์เป็นที่พักอาศัย เจ้าหญิงเมย์ทรงสนิทสนมกับพระชนนีและทรงทำหน้าที่เป็นเลขนุการอย่างไม่เป็นการ โดยทรงช่วยเหลือในการจัดเลี้ยงสังสรรค์และงานสังคมต่างๆ นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังทรงสนิทสนมกับแกรนด์ดัชเชสแห่งเม็คเล็นบูร์ก-สเตรลิตซ์ (พระอิสริยยศเดิม เจ้าหญิงออกัสตาแห่งแคมบริดจ์) พระมาตุจฉาและเขียนพระหัตถเลขาถึงพระองค์ทุกสัปดาห์มิเคยขาด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าหญิงมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดนทรงช่วยเหลือในการส่งจดหมายจากเจ้าหญิงเมย์ถึงพระมาตุจฉา ซึ่งประทับอยู่ในดินแดนของฝ่ายศัตรูในประเทศเยอรมนี จนกระทั่งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในปลายปี พ.ศ. 2459


หมั้นหมายและอภิเษกสมรส

ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2434 เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี่ ("เมย์") ได้ทรงหมั้นหมายกับพระญาติชั้นที่สองคือ เจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุคแห่งคลาเรนซ์ พระโอรสองค์ใหญ่ในเจ้าชายแห่งเวลส์ พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นเจ้าสาวของดยุค เนื่องจากความโปรดปรานในตัวเจ้าหญิงของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นหลัก รวมทั้งบุคลิกที่เข็มแข็งและการรู้ถึงหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ดยุคแห่งคลาเรนซ์ได้สิ้นพระชนม์อีกหกสัปดาห์ต่อมาในโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งแพร่ระบาดทั่วประเทศอังกฤษในช่วงฤดูหนาวปี พ.ศ. 2434 - 35

ถึงแม้จะเป็นความล้มเหลว สมเด็จพระราชินีนาถก็ยังคงโปรดเจ้าหญิงเมย์ในฐานะผู้ได้รับเลือกอันเหมาะสมที่จะอภิเษกสมรสกับพระมหากษัตริย์ในอนาคต และ เจ้าชายจอร์จ ดยุคแห่งยอร์ค พระอนุชาในเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ซึ่งตอนนี้ทรงเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ทรงใกล้ชิดกับเจ้าหญิงเมย์ระหว่างช่วงเวลาของการไว้อาลัยร่วมกันของทั้งสองพระองค์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436 เจ้าชายจอร์จทรงขออภิเษกในเวลาอันควรและเจ้าหญิงเมย์ก็ทรงตกลง การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง เจ้าหญิงเมย์และเจ้าชายจอร์จทรงรักกันอย่างลึกซึ้งในเวลาไม่นาน เจ้าชายจอร์จไม่ทรงมีสนมลับเลย (เป็นระดับของความซื่อสัตย์ที่ไม่ธรรมดาในยุคนั้น) และทรงเขียนพระหัตถเลขาถึงเจ้าหญิงเมย์อยู่เกือบจะทุกวัน
การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ ในกรุงลอนดอน และทรงมีพระโอรสและธิดา 6 พระองค์คือ


สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (เอ็ดเวิร์ด อัลเบิร์ต คริสเตียน จอร์จ แอนดรูว์ แพทริค เดวิด; 23 มิถุนายน พ.ศ. 2437 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2515)

ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น ดยุคแห่งคอร์นวอลล์ เอิร์ลแห่งแคร์ริค บารอนเรนฟรูว์ ลอร์ดแห่งไอเอิลส์ เจ้าชายและจอมทัพแห่งสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 หลังจากการเสวยราชสมบัติของพระชนก

ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายแห่งเวลส์ และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2453

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2479 และสละราชสมบัติแก่พระอนุชา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2479

ทรงดำรงพระอิสริยยศ ดยุคแห่งวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2480 ภายหลังจากการสละราชสมบัติ

ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2480 ณ ปราสาทกงเด ประเทศฝรั่งเศส กับ เบสซี วอลลิส วอร์ฟิลด์ (19 มิถุนายน พ.ศ. 2439 - 24 เมษายน พ.ศ. 2529) หรือ นางวอลลิส ซิมป์สัน ภรรยาม่ายของนายเออร์เนส อัลดริช ซิมป์สัน สามีคนที่สอง และเป็น ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ หลังจากการสมรส

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 (อัลเบิร์ต เฟรเดอริค อาร์เธอร์ จอร์จ; 14 ธันวาคม พ.ศ. 2438 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495)

ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น ดยุคแห่งยอร์ค เอิร์ลแห่งอินเวอร์เนส และบารอนคิลลาร์เนย์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2463

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2479

ทรงอภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2466 ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ กรุงลอนดอน กับ เลดี้ เอลิซาเบธ แองเจลา มาร์เกอริต โบวส์-ลีออน (4 สิงหาคม พ.ศ. 2443 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2545) ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแมรี พระวรราชกุมารี (วิกตอเรีย อเล็กซานดรา อลิซ แมรี่; 25 เมษายน พ.ศ. 2440 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2508)

ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น พระวรราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2475

ทรงอภิเษกสมรสวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ กรุงลอนดอน กับ เฮนรี จอร์จ ชาร์ลส์ ลาสเซลส์ (9 กันยายน พ.ศ. 2425 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2490) เอิร์ลที่ 6 แห่งแฮร์วูด ไวส์เค้านท์ลาสเซลส์ และบารอนแฮร์วูด ดำรงบรรดาศักดิ์ต่อจากบิดา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2472

ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เค้านท์เตสแห่งแฮร์วูด หลังจากการดำรงบรรดาศักดิ์ขุนนางของพระภัสดา

สมเด็จเจ้าฟ้าชายเฮนรี ดยุคแห่งกลอสเตอร์ (เฮนรี่ วิลเลี่ยม เฟรเดอริค อัลเบิร์ต; 31 มีนาคม พ.ศ. 2443 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2517)

ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น ดยุคแห่งกลอสเตอร์ เอิร์ลแห่งอัลส์เตอร์ และบารอนคัลโลเด็น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2471

ทรงอภิเษกสมรสวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ณ พระราชวังบัคกิงแฮม กรุงลอนดอน กับ เลดี้ อลิซ คริสตาเบล มอนเตกู-ดักลาส-สก็อต (25 ธันวาคม พ.ศ. 2444 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2547) ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จเจ้าฟ้าชายจอร์จ ดยุคแห่งเคนต์ (จอร์จ เอ็ดเวิร์ด อเล็กซานเดอร์ เอ็ดมันด์; 20 ธันวาคม พ.ศ. 2445 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2485)

ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น ดยุคแห่งเคนต์ เอิร์ลแห่งเซนต์แอนดรูว์ และบารอนดาวน์แพทริค เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2477

ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ กรุงลอนดอน กับ เจ้าหญิงมารีนาแห่งกรีซและเดนมาร์ก (13 ธันวาคม พ.ศ. 2449 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2511) ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมารีนา ดัชเชสแห่งเคนต์ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จเจ้าฟ้าชายจอห์น (จอห์น ชาร์ลส์ ฟรานซิส; 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 - 18 มกราคม พ.ศ. 2462)

 ดัชเชสแห่งยอร์ค

ภายหลังจากการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งยอร์ค (HRH The Duchess of York) ดยุคและดัชเชสแห่งยอร์คประทับอยู่ที่ตำหนักยอร์ค ซึ่งเป็นเรือนหลังเล็กในเขตพระราชฐานแซนดริงแฮม ในมณฑลนอร์โฟล์ค ทั้งสองพระองคก็ยังทรงมีห้องชุดในพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอนอีกด้วย ตำหนักยอร์คเป็นเรือนที่สมถะสำหรับเชื้อพระวงศ์ แต่เป็นที่โปรดปรานของเจ้าชายจอร์จ ซึ่งโปรดชีวิตแบบเรียบง่าย ทั้งสองพระองค์ได้ประทับร่วมกับพระโอรสและธิดาหกพระองค์คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าหญิงแมรี เจ้าชายเฮนรี เจ้าชายจอร์จ และเจ้าชายจอห์น
ดัชเชสทรงทุ่มเทให้กับพระโอรสและธิดามาก แต่ทรงให้อยู่ในความดูแลของพระพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัวระดับสูงในสมัยนั้น พระพี่เลี้ยงคนแรกโดนไล่ออกจากความไร้มารยาท และคนที่สองถูกจับได้ว่าทารุณข่มเหงพระโอรสและพระธิดา พระพี่เลี้ยงจะหยิกเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก่อนที่นำพระองค์ไปเฝ้าดยุคและดัชเชส โดยทำให้ทรงกรรแสงอย่างจงใจเพื่อจะได้เสด็จกลับมากับเธอโดยเร็ว เธอก็โดนไล่ออกเช่นกัน และมีผู้ช่วยคนใหม่ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่รักอย่างมากมาแทนคือ นางบิลล์

ประวัติศาสตร์ได้จดจำสมเด็จพระราชินีแมรีในฐานะพระชนนีที่เฉยเมย พระองค์มิเคยทรงสังเกตเห็นถึงความละเลยของพระพี่เลี้ยงต่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเจ้าชายอัลเบิร์ต และเจ้าชายจอห์น พระโอรสองค์เล็กทรงถูกทอดทิ้งอยู่ห่างไกลอยู่ที่พระราชวังแซนดริงแฮม ในความดูแลของนางบิลล์ ดังนั้นสาธารณชนจึงไม่เคยได้เห็นพระโรคลมชักของพระองค์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะทรงมีภาพพจน์ต่อสาธารณชนที่ขึงขังและชีวิตพระส่วนพระองค์ที่เคร่งครัดในศีลธรรม พระองค์ก็ทรงเป็นพระชนนีที่เอาใจใส่ในหลายเรื่อง โดยทรงเผยให้เป็นถึงด้านความรักและขี้เล่นต่อพระโอรสและธิดาและทรงสอนประวัติศาสตร์และดนตรีให้กับทุกพระองค์
ในฐานะดยุคและดัชเชสแห่งยอร์ค เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงเมย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านสาธารณะมากมาย เมื่อในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2444 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตและเจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด พระสัสสุระของดัชเชสแห่งยอร์ค เสวยราชสมบัติสืบต่อเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 นับแต่นั้นทั้งสองพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชายดยุคและสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์และยอร์ค (TRH The Duke and Duchess of Cornwall and York) และก็ได้เสด็จประพาสทั่วจักรวรรดิอังกฤษ โดยเสด็จเยือนยิบรอลตาร์ มอลตา อียิปต์ ลังกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มอริเชียส แอฟริกาใต้ และแคนาดาเป็นเวลาแปดเดือน ไม่เคยมีเชื้อพระวงศ์องค์ใดเสด็จต่างประเทศแบบหมายมาดเช่นนี้มาก่อน ดัชเชสทรงกรรแสงน้ำพระเนตรหลั่งไหลออกมาเมื่อทรงทราบว่าจะต้องจากพระโอรสและธิดาไป (ทุกพระองค์ทรงอยู่ในความดูแลของพระอัยกาและพระอัยยิกา) เป็นช่วงเวลาอันนาน ในระหว่างการเสด็จประพาส ทั้งสองพระองค์ทรงเปิดวาระการประชุมแรกของรัฐสภาออสเตรเลีย เมื่อเครือรัฐออสเตรเลียได้ก่อตั้งขึ้น


 เจ้าหญิงแห่งเวลส์

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 เก้าวันหลังการเสด็จกลับถึงสหราชอาณาจักรและการเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เจ้าชายจอร์จทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี่ก็ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแห่งเวลส์ (HRH The Princess of Wales) ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จจากพระราชวังเซนต์เจมส์ไปประทับยังตำหนักมาร์ลโบโร พระราชฐานในกรุงลอนดอน ขณะที่ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ได้โดยเสด็จพระสวามีไปในการเยือนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและราชอาณาจักรเวือร์ทเท็มแบร์กเมื่อปี พ.ศ. 2447 และในปีต่อมาก็ทรงมีพระประสูติกาลเจ้าชายจอห์น พระโอรสองค์สุดท้าย ซึ่งเป็นการประสูติที่ยากลำบากและแม้ว่าพระองค์จะทรงฟื้นพระองค์ได้รวดเร็ว แต่พระโอรสองค์ใหม่ก็ทรงทุกข์ทรมานกับปัญหาต่างๆ ที่ที่เกี่ยวกับระบบหายใจ

ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2448 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงเสด็จประพาสต่างประเทศอีกครั้งเป็นเวลาแปดเดือน ครั้งนี้ก็เป็นการเสด็จประพาสอินเดีย และพระโอรสและธิดาทรงอยู่ในการดูแลของพระอัยกาและพระอัยยิกาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสองพระองค์ผ่านทางอียิปต์ทั้งขาไปและกลับ โดยขากลับได้เสด็จประพาสประเทศกรีซ ตามมาด้วยการเสด็จเยือนประเทศสเปนเกือบจะทันทีเพื่อไปร่วมงานพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปนและเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก ซึ่งทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวทรงรอดพ้นจากการลอบปลงพระชนม์ได้อย่างหวุดหวิด อีกครั้งหนึ่งเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการเสด็จกลับถึงสหราชอาณาจักร ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จยังประเทศนอร์เวย์เพื่อไปร่วมในงานพระราชพธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 และสมเด็จพระราชินีม้อด (พระขนิษฐาในเจ้าชายจอร์จ)


 สมเด็จพระบรมราชินี

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และพระราชินีแมรีแห่งอังกฤษในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เสด็จสวรรคตและเจ้าชายแห่งเวลส์ก็เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี่จึงได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีแห่งสหราชอาณาจักร พระสวามีซึ่งขณะนี้ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงขอให้พระองค์เลือกใช้หนึ่งในสองพระนามทางการของพระองค์ ดังนั้นเนื่องจากทรงตรองว่ามิควรใช่พระนาม "วิกตอเรีย" จึงได้ทรงเลือกพระนาม "แมรี่" นับแต่นั้นมา สมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกกับพระสวามีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ กรุงลอนดอน และต่อมาทรงเสด็จเยือนประเทศอินเดีย เพื่อในการเฉลิมฉลองการราชาภิเษกที่กรุงเดลี (Delhi Durbar) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2454 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จประพาสทั่วประเทศไปในการเยี่ยมเยียนพสกนิกรใหม่ของพระองค์ในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีของพวกเขา


ในช่วงเริ่มแรกของการเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระราชินีแมรี่ ก็ได้เห็นการก่อตัวของความขัดแย้งกับสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา พระพันปีหลวง แม้ว่าทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นมิตรและสนิทสนมกัน แต่พระราชินีอเล็กซานยังทรงดื้อรั้นในหลายเรื่อง พระองค์ทรงมีพระประสงค์ลำดับก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีแมรี่ในงานพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงรั้งรอการเสด็จออกจากพระราชบัคกิ้งแฮม และทรงเก็บงำเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ต่างๆ ที่ควรจะตกทอดมายังสมเด็จพระราชินีองค์ใหม่ไว้


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงดำเนินการผลักดันความอดอยากที่พระราชวังบัคกิงแฮม ด้วยการแบ่งปันอาหาร และเสด็จเยียมเยียนทหารที่บาดเจ็บและใกล้ตายในโรงพยาบาล ยังความกดดันทางอารมณ์ต่อพระองค์เป็นอันมาก หลังจากสามปีของสงครามกับเยอรมนี ความรู้สึกต่อต้านเยอรมนีท่ามกลางสาธารณชนในประเทศอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น พระราชวงศ์รัสเซียซึ่งถูกขับออกจากราชสมบัติโดยรัฐบาลปฏิวัติ ได้รับการปฏิเสธการให้ที่ลี้ภัย โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระมเหสีของพระเจ้าซาร์ทรงเป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด ข่าวการสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์ทำให้เกิดการส่งเสริมให้มีการสละราชสมบัติในอังกฤษ ซึ่งต้องการให้ระบอบสาธารณรัฐเข้ามาแทนที่ระบอบกษัตริย์ หลังจากพวกสาธาณรัฐนิยมเอาภูมิหลังเยอรมันของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีมาเป็นการโต้แย้งเพื่อการปฏิรูป พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเปลี่ยนชื่อของพระราชวงศ์อังกฤษเป็นวินด์เซอร์และสละพระอิสริยยศของเยอรมันทั้งหมด ส่วนพระประยูรญาติของพระราชินีทรงสละพระอิสริยยศของเยอรมันทั้งหมดและทรงใช้ราชสกุลอังกฤษ "แคมบริดจ์" ในปี พ.ศ. 2461 สงครามได้สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและการสละราชสมบัติและการเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเยอรมนี


สองเดือนหลังการสิ้นสุดสงคราม พระโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีแมรี่ "จอห์นนี่ตัวน้อยที่รักผู้น่าสงสารของพวกเรา" สิ้นพระชนม์ขณะทรงพระชนมายุเพียง 13 พรรษา พระองค์ทรงบรรยายถึงความสะเทือนพระทัยและความโทมนัสของพระองค์ในสมุดบันทึก ที่บทความตอนหนึ่งได้ถูกตีพิมพ์ออกมาภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์


การสนับสนุนพระราชสวามีอย่างมั่นคงแน่วแน่ของสมเด็จพระราชินีแมรี่เข้มแข็งมากขึ้นในรัชกาลของพระองค์ พระองค์ได้ทรงแนะนำพระสวามีในเรื่องการกล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ และได้ทรงนำความรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และพระราชวงศ์มาแนะนำพระองค์ในเรื่องของบ้านเมือง พระองค์ทรงซาบซึ้งในความรอบคอบ ความเฉลียวฉลาดและการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระราชินีแมรี่มาก


พระองค์ทรงคงความมั่นพระทัยในพระองค์อย่างไม่เสื่อมคลายตลอดการประกอบพระราชกรณียกิจในช่วงหลังสงคราม แม้จะมีความไม่สงบของประชาชนเกี่ยวกับเงื่อนไขของสังคม การประกาศอิสรภาพของไอร์แลนด์ และลัทธิชาตินิยมของอินเดีย


อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงประชวรมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้สมเด็จพระราชินีแมรี่ต้องคอยทรงปรนนิบัติพระองค์ ในระหว่างการประชวรของพระองค์ในปี พ.ศ. 2471 เซอร์ ฟาร์กูฮาร์ บูซซาร์ด หนึ่งในแพทย์ประจำพระองค์ได้ถูกถามว่าใครเป็นผู้ช่วยชีวิตขององค์พระเจ้าอยู่หัว เขาตอบว่า "สมเด็จพระราชินี" ในปี พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงจัดงานฉลองพิธีรัชดาภิเษก ด้วยการจัดงานเลี้ยงฉลองต่างๆ ทั่วทั้งจักรวรรดิอังกฤษ ในการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรัชดาภิเษก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แสดงความเคารพพระมเหสีต่อหน้าสาธารณชน ด้วยการตรัสกับคนเขียนสุนทรพจน์ว่า "ใส่ย่อหน้านั้นไว้ตรงท้ายสุด เราไม่เชื่อว่าเราจะสามารถพูดถึงพระราชินีได้เมื่อต้องนึกถึงสิ่งที่เราเป็นหนี้เธอทั้งหมด"


 สมเด็จพระพันปีหลวง

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2479 หลังจากบารอน ดอว์สันแห่งเพนน์ แพทย์ประจำพระองค์ได้ฉีดมอร์ฟีนและโคเคน ซึ่งอาจจะเร่งการสวรรคตให้เร็วขึ้น เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีแมรี่เสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และตอนนี้พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนี ถึงกระนั้นก็มิได้ทรงใช้พระอิสริยยศมากนี้นัก แต่ทรงเป็นที่รู้จักว่า สมเด็จพระราชินีแมรี่ (Queen Mary)
ภายในปีนั้น กษัตริย์องค์ใหม่ทรงทำให้เกิดวิกฤติการณ์รัฐธรรมนูญด้วยการประกาศพระประสงค์ที่จะอภิเษกสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน สนมลับชาวอเมริกัน ที่หย่าร้างมาแล้วสองครั้ง สมเด็จพระราชินีแมรี่มิทรงเห็นด้วยกับการหย่าร้างและทรงรู้สึกว่านางซิมป์สันไม่เหมาะกับการเป็นมเหสีของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากทรงได้รับคำแนะนำจากสแตนเลย์ บาลด์วิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรว่าพระองค์ไม่ทรงคงเป็นกษัตริย์และอภิเษกสมรสกับวอลลิส ซิมป์สันได้ พระองค์จึงสละราชสมบัติ แม้ว่าจะทรงซื่อสัตย์และให้การสนับสนุนพระโอรส แต่สมเด็จพระราชินีแมรี่มิทรงเข้าใจในมุมมองของพระองค์ว่าทำไมกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดจะละเลยภาระหน้าที่การเป็นกษัตริย์เพื่อความรู้สึกส่วนพระองค์เช่นนี้ ถึงแม้พระองค์ทรงพบกับวอลลิสที่ราชสำนักแล้ว แต่ภายหลังพระองค์ทรงปฏิเสธที่จะพบกับเธออีกไม่ว่าจะเป็นในที่สาธารณะหรือว่าเป็นการส่วนพระองค์ สมเด็จพระราชินีทรงให้การสนับสนุนตามหลักศีลธรรมกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุคแห่งยอร์ค ซึ่งขี้อายและพูดติดอ่าง ให้เสวยราชสมบัติแทนที่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระองค์ก็ยังทรงร่วมพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์และพระราชินีองค์ใหม่ด้วย นับได้ว่าเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงพระองค์แรกที่เคยปฏิบัติเช่นนี้ พระองค์ทรงผิดหวังกับสิ่งที่เป็นการละทิ้งหน้าที่ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดและพระองค์ไม่เคยทรงแปรเปลี่ยนความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทรงรับรู้ว่าเป็นความเสียหายแก่ราชบัลลังก์ แต่ความรักของพระองค์ที่มีต่อกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดในฐานะที่ทรงเป็นพระราชโอรสยังคงเหมือนเดิม


สมเด็จพระราชินีแมรีทรงช่วยเหลืออย่างแข็งขันในการเลี้ยงดูพระราชนัดดาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต โรส ซึ่งพระชนกและพระชนนีทรงเห็นว่ามิจำเป็นที่ทั้งสองพระองค์จะต้องมีภาระหน้าที่จากระบบทางการศึกษาแบบบังคับ โดยการนำทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสยังสถานที่ต่างๆ ในกรุงลอนดอน เยี่ยมชมหอแสดงงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงโปรดให้พระชนนีอพยพออกจากกรุงลอนดอน แม้ว่าพระราชินีแมรี่ยังทรงลังเล แต่ก็ได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะไปประทับอยู่ที่ตำหนักแบดมินตันกับแมรี่ ซอเมอร์เซ็ต ดัชเชสแห่งโบฟอร์ต พระนัดดาซึ่งเป็นธิดาของอดอลฟัส ลอร์ดแคมบริดจ์ พระอนุชา พระองค์ ข้าราชบริพารสี่สิบห้าคนและสิ่งของเครื่องใช้ของพระองค์ที่ต้องใช้กระเป๋าสัมภาระเจ็ดสิบใบในการขนย้ายจากกรุงลอนดอนใช้เนื้อที่ในตำหนักทั้งหมด ยกเว้นแต่ห้องชุดของดยุคและดัชเชสอีกเจ็ดปีถัดไป คนที่บ่นกับการจัดของเป็นพวกข้าราชบริพาร ซึ่งคิดว่าตำหนักเล็กไป สมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงสนับสนุนความอุตสาหะ ในการทำสงครามโดยการเสด็จเยี่ยมกองทหารและโรงงานและทรงช่วยเก็บรวบรวมเศษซากวัตถุต่างๆ พระองค์ยังทรงให้คนนำรถไปส่งทหารที่ได้พบบนท้องถนน และทำให้พระนัดดาของพระองค์เกิดความรำคาญใจด้วยการมีเถาไม้เลื้อยโบราณขาดลงมาจากกำแพงของตำหนักแบดมินตัน ซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นอันตรายและไม่น่าดูชม ในปี พ.ศ. 2485 เจ้าชายจอร์จ ดยุคแห่งเคนต์ พระราชโอรสองค์เล็กสิ้นพระชนม์จากอุบติเหตุทางเครื่องบินระหว่างทรงปฏิบัติราชการ ในที่สุดพระองค์ก็เสด็จกลับตำหนักมาร์ลโบโรในปี พ.ศ. 2488 หลังจากสงครามในทวีปยุโรปสิ้นสุดลงจากการพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมัน


สมเด็จพระราชินีแมรี่บางครั้งทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแสวงหาศิลปวัตถุอย่างเอาจริงเอาจังสำหรับเป็นของสะสมในพระราชวงศ์ ในหลากหลายโอกาส พระองค์ทรงปรารภกับเจ้าของบ้านหรือบุคคลอื่นว่าพระองค์ทรงโปรดปรานกับสิ่งที่พวกเขาเป็นเจ้าของมาก เพื่อหวังว่าเจ้าของจะเต็มใจถวายให้โดยสมัครใจ


ความรู้อันกว้างขวางและการค้นคว้าในเรื่องสมบัติที่เป็นของสำนักการสะสมงานศิลป์หลวงของพระราชินีแมรี่ยังช่วยในการบ่งบอกประเภทของสิ่งประดิษฐ์หรืองานศิลป์ที่อยู่ผิดตำแหน่งมาหลายปี ดังตัวอย่างเช่น พระราชวงศ์ได้ให้มิตรสายชาวอังกฤษในสมัยก่อนๆ ยืมสิ่งของต่างๆ เหล่านั้นกับซึ่งยังไม่ได้รับกลับคืนมา ทันทีที่พระองค์ได้ระบุบ่งสิ่งของที่หายไปในรายการทรัพย์สินเล่มเก่า พระองค์จะทรงเขียนถึงผู้ที่ครอบครองอยู่เพื่อขอสิ่งของกลับคืน พระองค์ทรงเป็นนักสะสมวัตถุและรูปภาพที่กระตือรือร้นด้วยเส้นสายในพระราชวงศ์ เช่น พระองค์ทรงจ่ายการตีราคาในตลาดเปิดอย่างใจกว้างเมื่อทรงรับซื้อเครื่องเพชรจากนายหน้าของสมเด็จพระจักรพรรดินีพันปีหลวงมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย และยังทรงจ่ายสามเท่าของการตีราคาเมื่อทรงซื้อ Cambridge Emeralds ของครอบครัวจากเลดี้คิลเมอร์รี สนมลับของเจ้าชายฟรานซิส พระอนุชาผู้ล่วงลับ


ในปี พ.ศ. 2495 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามที่สวรรคตก่อนสมเด็จพระราชินีแมรี่ และเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชนัดดาได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์เสด็จสวรรคตในปีต่อมาด้วยโรคมะเร็งที่บับผาสะ (ซึ่งสาธารณชนทราบว่าเป็น "ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร") ขณะทรงมีพระชนมพรรษา 85 พรรษา โดยมิได้ทรงเห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในกรณีของการสวรรคตของพระองค์ สมเด็จพระราชินีแมรี่โปรดให้ทราบว่างานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องไม่เลื่อนออกไป พระศพตั้งไว้ให้สักการะที่ห้องโถงใหญ่เวสต์มินส์เตอร์ ซึ่งกลุ่มพสกนิกรที่ไว้อาลัยเข้าแถวเดินผ่านโลงพระศพ พระศพของพระองค์ฝังอยู่ข้างพระราชสวามีตรงส่วนกลางของโบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์


 พระอิสริยยศ

พ.ศ. 2410 - พ.ศ. 2436: สมเด็จพระองค์หญิงวิกตอเรีย แมรีแห่งเท็ค (Her Serene Highness Princess Victoria Mary of Teck)

พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2444: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งยอร์ค (Her Royal Highness The Duchess of York)

22 มกราคม - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งคอนวอลล์และยอร์ค (Her Royal Highness The Duchess of Cornwall and York)

พ.ศ. 2444 - พ.ศ. 2453: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแห่งเวลส์ (Her Royal Highness The Princess of Wales)

ในประเทศสก็อตแลนด์; พ.ศ. 2444 - พ.ศ. 2453: สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงดัชเชสแห่งโรธเซย์ (Her Royal Highness The Duchess of Rothesay)

พ.ศ. 2453 - พ.ศ. 2479: สมเด็จพระบรมราชินี (Her Majesty The Queen)

พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2496: สมเด็จพระราชินีแมรี (Her Majesty Queen Mary)

ปาโบล ปีกัสโซ

ปาโบล รุยซ์ ปีกัสโซ (สเปน: Pablo Ruiz Picasso) (25 ตุลาคม ค.ศ. 1881-8 เมษายน ค.ศ. 1973) จิตรกรเอกของโลก เป็นบุคคลที่นิตยสาร TIME ยกย่องให้เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์มากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปีกัสโซเกิดที่เมืองมาลากา แคว้นอันดาลูเซีย ประเทศสเปน เป็นบุตรชายคนโตของดอนโคเซ รุยซ์ อี บลัสโก (ค.ศ. 1838-1913) กับมารีอา ปีกัสโซ อี โลเปซ บิดาเป็นครูสอนศิลปะในมหาวิทยาลัย เขาฉายแววการเป็นศิลปินระดับโลกด้วยการพูดคำว่า "piz, piz" [มาจากคำว่า "lápiz" (ลาปิซ) ที่แปลว่าดินสอในภาษาสเปน] เป็นคำแรก แทนที่จะพูดคำว่า "แม่" เหมือนเด็กทั่วไป
ปีกัสโซได้รับจานสีและพู่กันเป็นของขวัญวันเกิดตอนอายุ 6 ขวบจากบิดา ครั้งนึงที่บิดาของปีกัสโซกำลังวาดรูปนกพิราบของเขาอยู่นั้น สิ่งที่น่าทึ่งก็ได้บังเกิดขึ้น เมื่อบิดาของเขาออกไปจากห้องเพื่อทำอะไรบางอย่าง ปีกัสโซได้เข้าไปในห้อง แล้ววาดภาพนกพิราบต่อจนเสร็จ เมื่อบิดาเขากลับเข้ามาจึงได้พบว่าภาพที่วาดนั้น เสร็จสมบูรณ์และมีพลังมากกว่าที่ตนเองวาดเสียอีก


ปีกัสโซเริ่มสูบซิการ์ตั้งแต่อายุ 12 ปี จึงอาจเป็นสาเหตที่ทำให้เขามีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปีกัสโซเสียชีวิตเมื่ออายุ 91 ปี
ภาพ Garçon à la pipe ในยุค Rose Periodภาพเขียนของปีกัสโซแบ่งเป็นช่วงต่าง ๆ ได้ ดังนี้

Blue Period 1901-1904 (ยุคสีน้ำเงิน)

Rose Period 1904-1906 (ยุคสีชมพู)

African-Influenced Period

Cubism (บาศกนิยม)

Classicism and surrealism (ยุคคลาสสิกและเหนือจริง)

Later works (ยุคสุดท้าย)

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์

เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ (อังกฤษ: Leonard Bernstein, ออกเสียง /ˈbɜrn.staɪn/ ) นักประพันธ์เพลง ผู้อำนวยเพลง และนักเปียโนชาวอเมริกัน ผู้ประพันธ์ผลงานดนตรีคลาสสิก เพลงประกอบละครเวที ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่จดจำ เช่นเรื่อง West Side Story (1954) [1], On The Waterfront (1957) เบิร์นสไตน์มีผลงานประพันธ์ซิมโฟนี จำนวน 3 ชิ้น โอเปร่า จำนวน 2 ชิ้น และละครเพลง จำนวน 5 ชิ้น
นอกจากผลงานประพันธ์แล้ว เบิร์นสไตย์ยังได้รับการกล่าวถึงในฐานะผู้อำนวยเพลง และผู้กำกับดนตรีของวงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิก ตั้งแต่ปี 1958 ถึง 1969 และในฐานะนักเปียโน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สเคยกล่าวถึงเบิร์นสไตน์ว่าเป็น "นักดนตรีอัจฉริยะที่มีพรสวรรค์และประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา

ผู้ติดตาม

เกี่ยวกับฉัน